วันนี้แอดอยากเขียนเรื่องระบบนึงที่แอดชอบมากในประเทศนี้ นั่นก็คือ furusato nozei โดยจะแบ่งเป็นสองโพสต์ ในโพสต์แรกนี้จะเป็นเรื่อง furusato nozei คืออะไร และโพสต์ที่สองเป็นเรื่องวิธีทำ furusato nozei สำหรับคนอยู่ญี่ปุ่น ถ้าอยากข้ามไปเรื่องวิธีทำเลยเชิญทางนี้
1. Furusato nozei (ฟุรุซาโตะโนเซ) คือระบบการ”บริจาค”เงินให้เมืองอื่น แล้วจำนวนที่บริจาคไปนั้นจะเอามาหักออกจากภาษีที่เราต้องจ่ายได้เกือบเต็มจำนวน เพราะงั้นถึงจะเรียกว่าการบริจาค แต่จริงๆแล้วมันจะคล้ายกับเราเลือกจ่ายภาษีส่วนหนึ่งไปให้เมืองอื่นนอกจากที่เราอยู่ และที่สำคัญคือ เราจะได้รับของตอบแทนจากเมืองนั้นกลับมาด้วย อันนี้เป็นจุดขายหลักของระบบนี้เลย โดยภาษีตัวที่จะเอา furusato nozei มาหักเพื่อให้ถูกลงได้คือภาษีท้องถิ่นของปีหน้า (ที่เรียกว่า inhabitant tax หรือจูมินเซย์)
2. ที่เจ๋งคือ นอกจากเราจะเลือกได้ว่าจะบริจาคให้เมืองไหน ยังเลือกได้ด้วยว่าจะบริจาคเพื่อเอาไปใช้พัฒนาด้านไหน โดยแต่ละเมืองก็จะมีเป็นลิสต์ให้เราเลือกตอนบริจาคเลย เช่น เพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกมาพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาเมืองให้สวยงามน่าอยู่ เพื่อพัฒนาเด็ก ต่างๆนา จากประสบการณ์ บางเมืองพอเราบริจาคไปแล้ว ปีถัดไปมีส่งรายงานประจำปีมาให้ดูด้วยว่า นี่ๆ เงินที่ได้มา เราเอามาสร้างอันนี้อันนั้นอย่างนี้นะ รู้สึกแปลก+ดีใจว่าเราสามารถเห็นได้เลยว่าเงินเราเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง รู้สึกไม่ชิน 55
3. ของที่ได้กลับมาก็มีให้เลือกแบบวาไรตี้มาก ตั้งแต่เบๆอย่างเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ คูปองพักโรงแรม และสิ่งอิหยังวะ ที่เคยเห็นเช่น แต่งเพลงประจำตัวให้ (เพื่อ?!?) ตัวอย่างของที่ได้กลับมา เช่น แอดบริจาคไปสองหมื่นเยน ได้เนื้อมัตสึซากะ sirloin สำหรับทำสเต็กมาสองแผ่นใหญ่ๆ หมื่นเยนได้สตรอเบอรรี่พันธุ์อามะโอสี่แพค ไรงี้


อีกแบบที่แอดชอบมากคือการ subscribe ให้มาส่งทุกเดือน เช่นบริจาคห้าหมื่นเยนได้ ได้ข้าว 3 กิโล+เซ็ตผักตามฤดูกาล มาส่งถึงบ้านเป็นเวลา 4 เดือน เป็นต้น ประเภทนี้ยอดนิยมสุดคือพวกผักผลไม้ แต่อย่างอื่นก็มี เช่น ไอติมเจลาโต้จากฮอกไกโด เดือนละแปดถ้วย เอาไปเลย 12 เดือน เรียกว่าไม่ต้องกลัวขาดไอติมแล้วลงแดงอย่างแน่นอน


สิ่งแปลกๆที่เจออีกก็เช่น ด้วงอะไรซักอย่างน่าจะเป็นพันธุ์หายาก รับไปเลยหนึ่งคู่ทั้งตัวผู้ตัวเมีย เผื่อเอาไปออกลูกหลานได้อีก หรือใครมีปัญหาหนักใจ ทำ furusato nozei ได้เป็นล้านแต่ไม่รู้ทำอะไรดี จัดไป เนื้อสเต็กร้อยแผ่น กินกันให้อิ่มหนำทั้งหมู่บ้าน


4. ปีก่อนๆเคยมีปัญหาเรื่องบางเมืองเอาของที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเมืองนั้นมาให้เป็นของตอบแทน หรือของตอบแทนมูลค่าสูงจนน่าดึงดูดใจเกินไป เช่น amazon gift card บ้างล่ะ ไอแพดบ้างล่ะ ซึ่งแน่นอนว่าใครก็ต้องอยากได้ (แอดก็อยากได้ 55) แต่มันก็ผิดวัตถุประสงค์ของระบบนี้ที่จะช่วยสนับสนุนท้องถิ่น และก็ไม่แฟร์กับเมืองอื่นๆด้วย เมื่อปี 2019 เลยมีการออกกฏให้เข้มงวดขึ้น ด้วยการจำกัดมูลค่าของตอบแทนอยู่ที่ไม่เกิน 30% ของเงินบริจาค และต้องเป็นของที่ผลิตหรือแปรรูปในเมืองนั้นเท่านั้น
5. ขอย้อนกลับมาเรื่องภาษีท้องถิ่นหรือ inhabitant tax นิดนุง เพราะเข้าใจว่าที่ไทยน่าจะไม่มี ภาษีตัวนี้เป็นสิ่งที่ปกติเราจะต้องจ่ายให้เมืองที่เราอยู่ โดยจะคิดตามฐานรายได้ คล้ายๆการคิดภาษีเงินได้ (income tax) สำหรับพนง.บริษัท เจ้าภาษีท้องถิ่นนี้จะถูกหักจากเงินเดือนทุกเดือนเองอยู่แล้ว แต่ละเมืองอาจจะเรทต่างกันนิดหน่อยแต่คร่าวๆอยู่ที่ประมาณ 10%
6. อย่างที่บอกว่าปกติแล้วภาษีท้องถิ่นจะจ่ายเข้าเมืองหรือเขตที่เราอยู่ เพราะงั้นเมืองไหนคนอยู่เยอะก็จะเก็บภาษีได้เยอะ แต่เมืองเล็กๆโดยเฉพาะตามต่างจังหวัดที่ประชากรไม่มาก แถมมีแต่คนแก่ซะเยอะ ก็จะเก็บภาษีได้น้อยจนอาจจะไม่เพียงพอต่อการเอาไปพัฒนาเมือง ระบบนี้เลยมีส่วนช่วยในการกระจายเงินภาษีจากในเมืองใหญ่ไปสู่เมืองเล็กๆ นอกจากนี้ยังทำให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น เลือกได้ว่าอยากสนับสนุนเมืองไหนในด้านไหน ตามชื่อ furusato ที่แปลว่าบ้านเกิด บางคนอาจจะเกิดและเติบโตในเมืองนึงแล้วไปทำงานที่เมืองอื่น แต่ยังอยากมีส่วนสนับสนุนบ้านเกิดอยู่ ส่วนของตอบแทนต่างๆก็เป็นการโปรโมทสินค้าของเมืองนั้นๆไปด้วยในตัว นำไปสู่การแข่งขันกันระหว่างแต่ละเมือง ซึ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพสินค้าโดยรวมด้วยนั่นเอง
ตอนหน้ามาติดตามวิธีการทำ furusato nozei กัน ใบ้ไว้ก่อนว่าระดับความยากเท่าการซื้อของออนไลน์ ถ้าซื้อของใน amazon ได้ก็ทำได้จ้า อิอิ